เครือซีพี เดินหน้าต่อเนื่องงานด้านอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ สู่เป้าหมายความยั่งยืน ครอบคลุมทางบกและทางทะเล

กดติดตาม TOP NEWS

นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด กล่าวว่า เครือซีพี โดย หน่วยงานพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เดินหน้าดำเนินโครงการด้านความยั่งยืน “ซีพี…เพื่อความยั่งยืน : C.P. for Sustainability” มุ่งสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ เศรษฐกิจ ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยในปี 2567 นี้ ดำเนินโครงการครอบคลุมทั้งทางบกและทางทะเล ตั้งแต่แหล่งทรัพยากรต้นน้ำสำคัญจากภาคเหนือ จนกระทั่งทรัพยากรทางทะเล  ตลอดห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญของประเทศไทย โดยมีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและนโยบายที่มุ่งสู่องค์กรที่เป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2573 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 นำมาสู่การผนึกกำลังครั้งใหญ่เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการลดโลกร้อน นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญในเรื่องในเรื่องความหลากหลายทางระบบนิเวศ ซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจกทางธรรมชาติ ที่มีส่วนช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญทั่วโลก มีการดำเนินโครงการในมิติด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ เป็นการนำนโยบายมาสู่การปฏิบัติจริง โดยดำเนินโครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้านป่าไม้ จำนวน 6 โครงการหลัก ใน 3 จังหวัด ได้แก่

โครงการ “ป่าปลอดเผา” (Zero Forest Burning) อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ขับเคลื่อนโดยชุมชนร่วมกันเก็บใบไม้แห้งจากในป่าชุมชน นำมาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นปุ๋ยอินทรีย์ นำกลับมาใช้ใหม่ เกิดโมเดลต้นแบบในการ “ลดเชื้อเพลงในป่าชุมชน” ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเกิดไฟป่าที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 ในบริเวณแนวเขตชายแดนไทย-พม่า โครงการสบขุ่น โมเดล กาแฟสร้างป่า สร้างรายได้ อ.ท่าวังผา จ.น่าน ต้นแบบโมเดลกาแฟสร้างป่า มีเป้าหมายพลิกฟื้นดอยหัวโล้นให้กลับมาชุ่มชื้นและเขียวขจี ด้วยการส่งเสริมชุมชนปลูกกาแฟ ยกระดับอาชีพให้แก่คนในชุมชนสู่กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน เป็นต้นแบบในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร ควบคู่กับการมีรายได้ในการดำรงชีพอย่างยั่งยืนโครงการสร้างฝายอนุรักษ์บนพื้นที่สูง  สนับสนุนการทำฝายบนแหล่งต้นน้ำในภาคเหนือใน จ.น่าน และ จ.เชียงใหม่ เพื่อกักเก็บน้ำความชุ่มชื้น เพิ่มปริมาณน้ำใต้ดิน พร้อมเป็นแหล่งน้ำในการทำเกษตร และการอุปโภคบริโภคแก่ชุมชน

ต่อมา โครงการคืนป่าแลกอาชีพทางเลือก อ.ท่าวังผา จ.น่าน ส่งเสริมเกษตรกรในชุมชนลดพื้นที่ทำเกษตรเชิงเดี่ยว และคืนพื้นที่ให้กลับมาฟื้นฟูเป็นป่าที่สมบูรณ์ โดยปรับเปลี่ยนมาปลูกกาแฟและพืชมูลค่าสูงชนิดอื่นที่เหมาะสม โครงการค่ายเยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อม จ.เชียงราย มีเป้าหมายสร้างเครือข่ายผู้นำเยาวชน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศในอนาคต ให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม พร้อมมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ภูมิลำเนา และโครงการ วิจัยการศึกษาและประเมินนวัตกรรมที่เหมาะสมในการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ (ทิ้ง) ทางการเกษตร จ.เชียงใหม่ โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีเป้าหมาย “ทำอย่างไร จะไม่เกิดการเผาทางการเกษตร โดยศึกษาหาแนวทางการจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ การสรรหานวัตกรรมที่เหมาะสมและเป็นวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาช่วยเสริม

นอกจากนี้ ยังมีโครงการด้านความยั่งยืนทางทะเล ตามนโยบาย “SEACOSYSTEM เพื่อทะเลไทยที่ยั่งยืน” ในการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล การพัฒนาชุมชน และการพัฒนาเศรษฐกิจไปพร้อมกันอย่างจริงจัง โดยมีโครงการที่ขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อม จำนวน 4 โครงการหลัก ครอบคลุมภาคตะวันออกและภาคใต้ ได้แก่โครงการนวัตกรรมธนาคารสัตว์น้ำ ฟื้นฟู เขตอนุรักษ์ และเพิ่มพื้นที่สีเขียวแนวชายฝั่ง โดยดำเนินใน 8 จังหวัด ครอบคลุมภาคตะวันออกและภาคใต้ ในการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ โดยสนับสนุน นวัตกรรมธนาคารสัตว์น้ำ (Seaco Incubator) ในการขยายพันธุ์เพิ่มปริมาณทรัพยากรทางทะเล และปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำคืนสู่ธรรมชาติ โครงการ 4 ชุมชน อนุรักษ์พื้นที่ปลูกหญ้าทะเล จ.ตรัง มุ่งฟื้นฟูพื้นที่ปลูกหญ้าทะเลในบริเวณบ้านน้ำราบ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรอาหารของพะยูน และเต่าทะเล เพื่อสร้างความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศแก่ทรัพยากรทางทะเล โครงการวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ปะการังเทียม จ.สงขลา เป็นการเก็บข้อมูลด้านสมุทรศาสตร์ สิ่งแวดล้อมด้านชีววิทยา เก็บข้อมูลเปรียบเทียบหลังการสร้างปะการังเทียมใน 2 พื้นที่ ได้แก่ อ.ระโนด และ อ.สทิงพระ เพื่อศึกษาความเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพในทะเล และโครงการโรงเรียนชาวเล ปะนาเระ จ.ปัตตานี ปลูกฝังเด็กและเยาวชนในพื้นที่ในเรื่องการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะแล ปลูกจิตสำนึกด้านการทำประมงเชิงอนุรักษ์ เพื่อสร้างผู้นำในการทำประมงเชิงอนุรักษ์ในอนาคต

ทั้งนี้ เครือซีพี ยังมีการขับเคลื่อนกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมอีกหลายพื้นที่ เช่น การฟื้นฟูทรัพยากรริมชายฝั่งด้วยการปลูกต้นไม้ตามแนวชายฝั่ง กิจกรรมเก็บและคัดแยกขยะตั้งแต่ลำคลองสู่ทะเล เพื่อลดปริมาณขยะในทะเล และชายฝั่ง ไม่ให้มีผลกระทบกับแหล่งทรัพยากรในทะเล โดยเครือซีพีมีความมุ่งมั่นมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูและแก้ปัญหาในเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่ออุณหภูมิโลก ซึ่งถือเป็นเรื่องท้าทาย โดยให้นโยบายกับทุกกลุ่มธุรกิจของเครือซีพี ต้องมีการผนึกกำลังความร่วมมือในโครงการต่างๆ  มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาสนับสนุนงานด้านความยั่งยืน พร้อมทั้งทำการศึกษาและวัดผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดความยั่งยืนได้จริง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น