ชื่อเสียงของไหมจี๋หลี่ย้อนกลับไปมากกว่า 750 ปีที่แล้วตั้งแต่ปลายราชวงศ์หยวน ซึ่งเป็นยุคที่หมู่บ้านจี๋หลี่เพิ่งก่อตั้ง จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นที่มาของชื่อ “ไหมจี๋หลี่”นับแต่นั้นเป็นต้นมา ซินหัวและไชน่าเดลี่ย์ รายงานว่าไหมจี๋หลี่มีคุณสมบัติพิเศษแตกต่างไปจากไหมที่ผลิตในหมู่บ้านอื่นตรงที่ใยไหมมีความเหนียวนุ่ม เนื้อละเอียด ทอออกมาแล้วมีสีขาวมันวาว
ด้วยคุณสมบัติที่โดดเด่น ไหมจี๋หลี่ได้ถูกเลือกให้นำไปใช้ทอชุดฉลองพระองค์ของสมเด็จพระจักรพรรดิในสมัยราชวงศ์หมิง ทำให้ไหมจี๋หลี่เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น ในปี 2394 พ่อค้าจีนที่นครเซี่ยงไฮ้ได้นำไหมจี๋หลี่ไปร่วมแสดงที่งานเวิร์ลด์เอ็กซ์โป (World Expo) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงลอนดอน ปรากฎว่าไหมจี๋หลี่ชนะรางวัลสูงสุดถึง 2 รางวัล กลายเป็นที่รู้จักในระดับสากลเป็นครั้งแรก และในปี 2554 ไหมจี๋หลี่ได้รับการบรรจุในรายชื่อมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของจีน ตรงที่มีเทคนิคการผลิตไม่เหมือนใคร โดยอุปกรณ์ที่ใช้สาวไหมที่หมู่บ้านจี๋หลี่แห่งนี้มีการออกแบบเป็นพิเศษ และมีการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ระหว่างสมาชิกหญิงในครอบครัว
วันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา (2567) นายหวาง อีชื่อ เกษตรกรผู้เลี้ยงไหมวัย 67 ปีได้นำคณะผู้แทนจากหลายภาคส่วนของไทย รวมทั้งสถานีโทรทัศน์ Top News ในฐานะแขกของกระทรวงต่างประเทศจีนชมหมู่บ้านจี๋หลี่อันเก่าแก่ รวมทั้งโรงเลี้ยงหนอนไหม ศูนย์สาธิตการทอไหมด้วยมือและเครื่องสาวไหมทำด้วยไม้แบบดั้งเดิม ตลอดจนพิพิธภัณฑ์ไหมจี๋หลี่ ซึ่งถือเป็นไฮไลท์และผลงานชิ้นโบว์แดงที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของลุงหวาง
ลุงหวางลงทุนก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ไหมจี๋หลี่ เพื่อใช้เป็นที่จัดแสดงสิ่งของและอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องไม้ต่างๆที่เกี่ยวกับไหมจี๋หลี่กว่า 300 ชิ้น ซึ่งของจัดแสดงเหล่านี้ ลุงหวางได้ใช้เวลารวบรวม, สะสมและเสาะหามานานหลายปี ก่อนที่จะเปิดให้สาธารณชนและนักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมเป็นครั้งแรกในปี 2561 โดยไม่เก็บค่าเข้าชมแต่อย่างใด หวังเพียงอนุรักษ์และสืบทอดวิธีการสาวไหมโบราณแห่งหมู่บ้านจี๋หลี่ไม่ให้สูญหายไปกับกาลเวลาเท่านั้น
และด้วยเทคโนโลยีด้านพันธุกรรมที่ทันสมัยมากขึ้นในปัจจุบัน ช่วยให้เกษตรกรแห่งหมู่บ้านจี๋หลี่สามารถเพาะพันธุ์หนอนไหมที่ผลิตใยไหมออกมาได้หลายหลากสี มีทั้งเหลืองอ่อน, เหลืองทองและชมพูอ่อน ซึ่งเป็นสีธรรมชาติที่ไม่ต้องย้อม