จากกรณี ดร.สุรชัย จงจิตงาม อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยจังหวัดเชียงใหม่ นำภาพถ่ายในอดีตของรูปปั้นยักษ์โบราณอายุเก่าแก่กว่า 500 ปี ที่ตั้งอยู่บริเวณทางขึ้นสู่อุโมงค์ของวัด ซึ่งในปัจจุบันถูกบูรณะโบกปูนทับใหม่ ทำให้ของโบราณกลายเป็นของใหม่อย่างน่าเสียดาย พร้อมเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ที่ตัดสินใจทำการบูรณะยักษ์ทั้งสององค์ออกมาแสดงความรับผิดชอบจนเกิดกระแสดรามาอย่างต่อเนื่องช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ขณะที่เจ้าอาวาสวัด กล่าวว่าเป็นการบูรณะของสำนักศิลปากรที่ 7 เนื่องจากรูปปั้นทั้งสององค์ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุ
ล่าสุดวันนี้ (10 มิ.ย.67) นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า การบูรณะประติมากรรมปูนปั้นรูปยักษ์เฝ้ารักษาประตูทางเข้าสู่พระธาตุวัดอุโมงค์ บริเวณเชิงบันไดด้านทิศตะวันออกของทางเข้าพระธาตุวัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) ดำเนินการในช่วงเดือนตุลาคม 2566 โดยประติมากรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานวัดอุโมงค์ ซึ่งเป็นโบราณสถานที่ยังมีการใช้ประโยชน์ในการประกอบศาสนกิจ มีพระภิกษุจำพรรษา มีผู้มาแสวงบุญและมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมอย่างต่อเนื่อง
สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ได้เสนอแนวคิดในการบูรณะเป็นสองแนวทาง ได้แก่ แนวคิดที่ 1 บูรณะโดยการอนุรักษ์และรักษาสภาพของยักษ์ทั้ง 2 ตนไว้ โดยการทำความสะอาด เสริมความมั่นคง และรักษาสภาพดั้งเดิมไว้ ไม่มีการต่อเติมประติมากรรมที่ชำรุดให้สมบูรณ์ แต่เมื่อประเมินสภาพประติมากรรมที่ชำรุดอย่างมากการอนุรักษ์ตามแนวทางนี้ อาจจะรักษาประติมากรรมดังกล่าวได้เพียงระยะหนึ่ง เนื่องจากเป็นประติมากรรมที่ตั้งอยู่กลางแจ้ง หากในอนาคตที่มีปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม เช่น ฝนตกหนัก แผ่นดินไหว ขาดการดูแลรักษาปล่อยให้วัชพืชขึ้น ก็จะเป็นปัจจัยที่เร่งให้เกิดการชำรุด และอาจพังทลายลง
ส่วนแนวคิดที่ 2 บูรณะโดยการฟื้นคืนสภาพ และรูปแบบดั้งเดิมของประติมากรรมรูปยักษ์ เมื่อพิจารณาสภาพก่อนการบูรณะ ซึ่งมีหลักฐานทางศิลปกรรมหลงเหลืออยู่มากกว่า 80% ประกอบกับการวิเคราะห์การเสื่อมสภาพของวัสดุเดิม สภาพแวดล้อมโดยรอบ ปัจจัยความเสี่ยงอื่นในอนาคตที่จะเร่งให้เกิดความเสียหาย การใช้ประโยชน์ของโบราณสถานในปัจจุบัน คติความเชื่อ อีกทั้งที่ผ่านมากรมศิลปากรมีการเลือกแนวทางการบูรณะแบบฟื้นคืนสภาพนี้มาแล้วหลายแห่ง เช่น องค์พระมงคลบพิตร ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา / องค์พระอจนะ วัดศรีชุม จังหวัดสุโขทัย จึงพิจารณาเลือกดำเนินการบูรณะในแนวคิดที่ 2