นักวิจัยชี้ ฝุ่น มี PM2.5 ทำให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรทั่วโลกกว่า 135 ล้านคน เอเชียขึ้นแท่นอันดับหนึ่ง ผนวกปัญหาสภาพภูมิอากาศทำให้สถานการณ์แย่ลงถึง 14 %
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (NTU) ของสิงคโปร์ ได้เปิดเผยผลการศึกษาของนักวิจัย ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Environment International พบว่า ฝุ่น PM 2.5 เชื่อมโยงกับการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ของประชากรประมาณ 135 ล้านคนทั่วโลก ระหว่างปี 2523 ถึง 2563
โดยเอเชียเป็นพื้นที่ ที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากที่สุดในโลกถึง 98 ล้าน 1 แสนคน อยู่ในประเทศจีน 49 ล้านคน และกว่า 26 ล้านคนในอินเดีย ส่วนใน ปากีสถาน บังกลาเทศ อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น มีบันทึกการเสียชีวิต แต่ละประเทศอยู่ที่ 2 ถึง 5 ล้านคน และนักวิจัยพบว่า มีเหตุการณ์มลพิษทางอากาศที่สำคัญ 363 ครั้ง เกิดขึ้นทั่วโลกในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา โดยสถานการณ์ฝุ่นพิษเกิดขึ้นเฉลี่ย 9 ครั้งต่อปี
อีกทั้งการศึกษายังพบว่า ปรากฏการณ์สภาพอากาศบางอย่าง เช่น เอลนิโญ ทำให้ผลกระทบของ PM2.5 มากขึ้น เพราะทำให้ความเข้มข้นของอนุภาคฝุ่นในอากาศเข้มข้นขึ้น ส่งผลให้มีการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 14 โดยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความเสี่ยงต่อปรากฏการณ์เหล่านี้มากที่สุด ซึ่งนักวิจัยพบว่า มีผู้เสียชีวิตก่อนเวลาอันควรในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นประมาณ 3 พัน 100 คนในแต่ละปี
สตีฟ ยิม รองศาสตราจารย์ ของ NTU ซึ่งเป็นผู้นำการศึกษาตั้งข้อสังเกตว่า การศึกษาชี้ให้เห็นถึงความจำเป็น ในการทำความเข้าใจ และคำนึงถึงรูปแบบสภาพภูมิอากาศเหล่านี้ เมื่อต้องจัดการกับมลพิษทางอากาศเพื่อปกป้องสุขภาพของประชากรโลก
การศึกษานี้เป็นหนึ่งในการศึกษาที่กว้างขวางที่สุด เกี่ยวกับคุณภาพอากาศและสภาพภูมิอากาศ โดยใช้ข้อมูล 40 ปีเพื่อให้เห็นภาพใหญ่เกี่ยวกับผลกระทบของฝุ่น PM ที่มีต่อสุขภาพ โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวสิงคโปร์ได้ใช้ชุดข้อมูลรายเดือนเกี่ยวกับความเข้มข้นของ PM2.5 บนพื้นผิวโลก ขององค์การนาซามาศึกษา รวมถึงใช้ข้อมูลสถิติ และการประเมินผลด้านสุขภาพ จากสถาบันเมตริก ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่ตั้งอยู่ในสหรัฐ ที่ทำงานศึกษาการเสียชีวิตและการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับมลภาวะทั่วโลก
ด้านองค์การอนามัยโลกระบุว่า มลพิษทางอากาศมีความสัมพันธ์กับการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรทั่วโลกจำนวน 6.7 ล้านคนในแต่ละปี