เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ประเทศไทย หรือ ACT ออกแถลงการณ์ เรื่อง “โกงตาชั่ง” กรณีที่ ร้อยโท ไชยา เปรมประเสริฐ รองอัยการสูงสุด รักษาราชการเเทน นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด ยื่นจดหมายถึงเลขาธิการ ครม. เพื่อยืนยันความเหมาะสมในการแต่งตั้ง นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ขึ้นผู้ตรวจอัยการ โดยมีรายงานว่าในวันดังกล่าวได้เเจ้งลาพักร้อน 1 วัน โดยเนื้อหาในแถลงการณ์ระบุ ดังนี้ ธรรมาภิบาลและศักดิ์ศรีของสำนักงานอัยการสูงสุดกำลังถูกบั่นทอนอย่างรุนแรง จากการกระทำของคนในองค์กรเอง ล่าสุดคือความไม่โปร่งใสในการยื่นจดหมายถึงเลขาธิการ ครม. เพื่อยืนยันความเหมาะสมในการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูง ทำให้สังคมมีคำถามมากมาย ได้แก่
1.การแต่งตั้งบุคคลที่ถูกสังคมและองค์กรอื่นตั้งข้อกังขา เป็นเรื่องสำคัญยิ่งต่อชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือ ตลอดจนเกียรติภูมิของอัยการและจะเป็นบรรทัดฐานการคัดสรรแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงต่อไป จึงสมควรกว่าหรือไม่ที่จะมอบให้เป็นภาระการตัดสินใจของอัยการสูงสุดท่านใหม่ แทนที่จะเป็นอัยการสูงสุดคนปัจจุบันที่กำลังจะก้าวลงจากตำแหน่งในเร็ววันนี้ เหมือนเป็นการทิ้งทวนแต่งตั้งลูกน้อง ซึ่งนับว่าไม่เหมาะสมและไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง
2.จดหมายถึงเลขาธิการ ครม. ดังกล่าวมิได้ทำในนาม “คณะกรรมการอัยการ” ตามที่เคยกล่าวไว้เพราะคณะกรรมการอัยการเห็นว่าไม่ใช่หน้าที่ จึงเปลี่ยนไปออกจดหมายในนามอัยการสูงสุดที่มีความเหมาะสมต่างกัน และยิ่งลดคุณค่าลงไปอีก เมื่อผู้ลงนามในจดหมายสำคัญนี้เป็นรองอัยการสูงสุด ด้วยเหตุว่าในวันนั้นตัวท่านอัยการสูงสุดได้ลาพักเพียง 1 วัน จนเกิดข้อสงสัยว่า มีใครต้องการหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบหรือสมรู้ร่วมคิดกันซ่อนปมบางอย่างใช่หรือไม่
น่าเป็นห่วงว่า สถาบันอัยการมีหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของบ้านเมือง หากผู้นำบางคนใช้สิทธิและอำนาจโดยขาดความเหมาะสม แฝงด้วยทิฐิและผลประโยชน์พวกพ้อง ย่อมเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือขององค์กร อย่างนี้จะหวังให้สังคมและข้าราชการอัยการทั้งประเทศยอมรับได้อย่างไร องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าอัยการทุกคนจะตระหนักถึงผลของการกระทำที่บั่นทอนศรัทธาของประชาชนต่อสถาบันอัยการที่เป็นเสาหลักความยุติธรรมของชาติ โดยร่วมกันปกป้องและปฏิรูปอัยการให้กลับมายืนเคียงข้างความรู้สึกและผลประโยชน์ของประชาชนคนไทยอย่างสง่างาม