ประชุมสุดยอด G7 วันที่ 2 เล็งถกเรื่องจีนเป็นวาระหลัก จากนั้นโป๊ปจะทรงปรากฏตัวในการประชุมเป็นครั้งแรก เพื่อหารือในหัวข้อเอไอ
การประชุมสุดยอดของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ชาติ หรือ G7 เริ่มเปิดฉากเมื่อวันพฤหัสบดี ในช่วงวันแรกของการประชุมในภูมิภาคอาพูเลียทางตอนใต้ของอิตาลี ผู้นำทั้ง 7 เห็นพ้องในข้อตกลงที่จะให้เงินกู้ 5 หมื่นล้านดอลลาร์แก่ยูเครน โดยใช้ดอกเบี้ยจากทรัพย์สินรัสเซียที่ถูกยึดเป็นหลักประกัน ซึ่งทุกฝ่ายยกย่องข้อตกลงดังกล่าวว่า เป็นสัญญาณที่ทรงพลัง ของการแก้ปัญหาของชาติตะวันตก แม้ว่าจะยังต้องมีการพิจารณารายละเอียดหลายประการ แต่สมาชิก G7 ได้แก่ สหรัฐ แคนาดา ญี่ปุ่น เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี และอังกฤษ และสหภาพยุโรป (EU) คาด จะสามารถส่งมอบวงเงินกู้นี้ ให้กับยูเครนได้ภายในสิ้นปี
แม้ว่ายูเครนจะครอบครองในหัวข้อการเจรจาวันแรก แต่จีนจะเป็นประเด็นสำคัญของการประชุมเช้านี้ คาดว่าบรรดาผู้นำจะแสดงความกังวลเกี่ยวกับกำลังการผลิตทางอุตสาหกรรมส่วนเกินของจีน ที่ทำร้ายตลาดของตะวันตก และการสนับสนุนรัสเซีย ในสัปดาห์นี้ สหรัฐบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ต่อบริษัทในจีนที่จัดหาเซมิคอนดักเตอร์ให้กับรัสเซีย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับท่าทีที่แข็งกร้าวมากขึ้นของจีนต่อไต้หวัน และประเด็นข้อพิพาทกับฟิลิปปินส์เกี่ยวกับการอ้างสิทธิพื้นที่ทะเลจีนใต้
โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐกล่าวกับผู้สื่อข่าว ในที่ประชุมสุดยอด หลังการลงนามในสนธิสัญญาความมั่นคงทวิภาคีกับ ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครนว่า แม้จีนไม่ได้จัดหาอาวุธให้กับรัสเซีย แต่กลับสนับสนุนความสามารถในการผลิตอาวุธเหล่านั้นและเทคโนโลยีที่มีอยู่ ดังนั้นในความเป็นจริงแล้ว จีนกำลังช่วยเหลือรัสเซีย
ขณะที่เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา อียูประกาศจะเรียกเก็บภาษีพิเศษสูงสุดถึง 38.1 เปอร์เซ็นต์ สำหรับรถยนต์ไฟฟ้านำเข้าของจีนตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป เสี่ยงต่อการตอบโต้จากจีน ซึ่งให้คำมั่นว่าจะใช้มาตรการเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตน
ส่วนในการหารือช่วงท้าย สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส จะทรงปรากฏตัวครั้งประวัติศาสตร์ เพื่อเข้าร่วมหารือกับผู้นำทั้ง 7 รวมถึงผู้นำประเทศรับเชิญ เช่น นายกรัฐมนตรีของอินเดียและกษัตริย์แห่งจอร์แดน ในหัวข้อเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) หลังจากนั้น โป๊ปจะทรงจัดการประชุมทวิภาคีกับหลายประเทศ รวมถึงกับไบเดน, เซเลนสกี และประธานาธิบดีตุรกี ทายยิป แอร์โดอัน
นอกจากนี้ ผู้นำจะหารือเกี่ยวกับผู้อพยพ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญสำหรับนายกฯ จอร์เจีย เมโลนี ผู้นำอิตาลีที่กำลังผลักดัน เพื่อลดการไหลเข้าอย่างผิดกฎหมายจากแอฟริกา และได้เปิดตัวแผนสำคัญ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาในทวีปเพื่อจัดการกับต้นตอของการอพยพ จากนั้นผู้นำหลายคนจะเดินทางออกจากอิตาลีในช่วงดึกของวันศุกร์ รวมถึงไบเดนด้วย ส่วนผู้นำที่เหลือจะมีการจัดการประชุมทวิภาคีร่วมกัน ก่อนปิดท้ายด้วยการแถลงข่าวครั้งสุดท้ายจากนางเมโลนี