นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน แถลงถึงแนวทางการฉีดวัคซีนไฟเซอร์แก่นักเรียนและนักศึกษาอายุ 12 ปีขึ้นไป ที่ศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่าว่า แนวทางการดำเนินการ โรงเรียนหรือสถานศึกษาในแต่ละพื้นที่ จะรวบรวมจำนวนนักเรียนที่มี เพื่อที่จะแจ้งให้สาธารณสุขจังหวัดได้ทราบว่ามีจำนวนเท่าไหร่ เพื่อจัดสรรวัคซีนลงไป โดยการส่งวัคซีนในช่วงเดือนตุลาคม สัปดาห์แรกและสัปดาห์ที่สอง สัปดาห์ละประมาณ 1 ล้านโดส สัปดาห์ที่ 3 ประมาณ 2 ล้านโดส เพื่อฉีดเป็นเข็มที่ 1 สัปดาห์ที่ 4 จำนวน 1 ล้านโดส ถัดจากนั้นจะเป็นแผนในเดือนพฤศจิกายน โดยสรุปจะเป็นการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ห่างกัน 4 สัปดาห์
ส่วนข้อกังวลเรื่องกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ที่เกิดข่าวคราวขึ้นในหลายประเทศนั้น นายแพทย์เฉวตสรร ชี้แจงว่า จากการฉีดทั่วโลกจำนวนที่รายงานพบในระดับต่ำหรือน้อยมาก จากการศึกษาข้อมูลในสหรัฐฯพบว่า หากติดเชื้อโควิดจะมีโอกาสเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบร่วม ประมาณ 50 ต่อแสนคน ซึ่งสูงกว่าที่เกิดจากการฉีดวัคซีนถึง 6 เท่า เพราะฉะนั้นที่เรากังวลการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังการฉีดวัคซีนMRNAมีน้อยมาก วัคซีนมีความปลอดภัย อีกทั้งอัตราที่พบในประเทศไทย มีอัตราการเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 2-3 ต่อแสนคน โดยประเทศไทยฉีดวัคซีนไฟเซอร์ไปแล้ว 9 แสนกว่าโดส พบรายงานเพียง 1 ราย เป็นเด็กผู้ชายอายุ 13 ปี โดยเกิดอาการแน่นหน้าอกวันที่ 2 หลังการฉีด เมื่อมีอาการก็ไปรักษาจนอาการดีขึ้นและหายดี ฉะนั้นไม่น่ากังวล เปรียบเทียบความเสี่ยงกับประโยชน์แล้ว ประโยชน์ถือว่าคุ้มมาก ควรที่จะฉีดและอย่าได้ลังเล