นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ครึ่งปีแรกของ พ.ศ. 2567 การท่องเที่ยว เป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยมีเป้าหมายไว้ว่าจะมีนักท่องเที่ยว เดินทางเข้าประเทศทั้งปีมากกว่า 36.7 ล้านคน กลับไปสู่ระดับสูงใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด และรัฐบาลมีแผนที่จะทำให้ปี 2568 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวที่ยิ่งใหญ่ เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้มากยิ่งขึ้น และกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวผ่านการเฟ้นหาจุดเด่น จัดเทศกาล กิจกรรม คอนเสิร์ต หรือการแสดงต่างๆ เพื่อเพิ่มระยะเวลาการพำนัก และค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของนักท่องเที่ยวในอนาคต ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการขยายโครงสร้างพื้นฐานทางอากาศมากยิ่งขึ้น ทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางทางการบิน โดยรัฐบาลจะเดินหน้าขยายโครงข่ายสนามบินทั่วประเทศเพื่อให้รองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น และขยายกำลังความสามารถในการขนส่งทางอากาศ การขนส่งควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain) และเชื่อมต่อไปยังการขนส่งทางรถ ราง และเรืออย่างครบวงจร ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งจากไทยไปยังกลุ่มประเทศ CLMV และเชื่อมต่อไปยัง Land Bridge เพื่อไปทั่วโลกได้
ส่วนด้านเกษตรกรรมและอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถยกระดับสู่อุตสาหกรรมมูลค่าสูง รัฐบาลมีมาตรการที่จะดูแลภาคส่วนนี้ตั้งแต่ต้นน้ำโดยการบริหารจัดการน้ำ ดิน พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ การแปรรูป และดูแลบริหารอย่างครบวงจร ทำให้ภาคเกษตรและอาหารแข็งแรงยิ่งขึ้น
ส่วน ปัญหาหนี้สินยังเป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะในภาคครัวเรือนที่มีภาระหนี้สินสูงกว่า 91.3 %ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และยังซ้ำร้ายด้วยภาระหนี้นอกระบบ โดยรัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือในการไกล่เกลี่ย และจับกุมเจ้าหนี้นอกระบบที่ทำผิดกฎหมาย เพื่อคืนอิสรภาพให้กับพี่น้องประชาชนที่เคยตกอยู่ในวังวนหนี้สินไม่รู้จบในภาคธุรกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประเมินว่าใน SMEs จำนวนกว่า 3.2 ล้านราย มีเพียงไม่ถึงครึ่งที่เข้าถึงสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน ทำให้ต้องอาศัยแหล่งสินเชื่อที่ไม่เป็นธรรม ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ
ด้านการใช้จ่ายจำเป็นในการหมุนเวียนประจำวัน และการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจ ส่งผลให้หลายบริษัทต้องปิดตัวลง การเจริญเติบโตในภาค SMEs อยู่ในระดับต่ำ สินเชื่อในกลุ่ม SMEs มีการขยายตัวติดลบ 5.1% ในขณะที่สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ขยายตัว 3.3 %ในไตรมาส 1 ของปี 2567
สำหรับการลงทุนจากต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และได้มีการขอรับบัตรส่งเสริมการลงทุนมูลค่ารวมกว่า 850,000 ล้านบาทในปี 2566 ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 9 ปี เป็นผลจากการเดินหน้าเจรจาการค้าการลงทุนอย่างต่อเนื่องร่วมกับภาคเอกชนในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน เป็นการดำเนินนโยบายที่ใช้งบประมาณน้อยแต่ได้ผลมาก
ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 กำหนดไว้จำนวน 6 ยุทธศาสตร์
ยุทธศาสตร์ที่ 1 : ด้านความมั่นคงรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 405,412.8 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.8 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อพัฒนาความมั่นคง ของประเทศ
ยุทธศาสตร์ที่ 2 : ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 398,185.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.6 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อส่งเสริมให้เศรษฐกิจ ของประเทศเติบโต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้มีเสถียรภาพและยั่งยืน ผลักดันการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเป็นศูนย์กลางการขนส่ง ขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน โดยมีเป้าหมายกระจายความเจริญในทุกภูมิภาคของประเทศ
ยุทธศาสตร์ที่ 3 : ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 583,023.4 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15.5 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน ปฏิรูประบบการศึกษาและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาระบบบริการสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมทุกพื้นที่ ส่งเสริมการอนุรักษ์และพัฒนามรดกทางศิลปวัฒนธรรม สู่อุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ พัฒนาศักยภาพการกีฬาสู่ความเป็นเลิศ และได้มาตรฐานสากล ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีสามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมทั้ง พัฒนาและยกระดับทักษะฝีมือแรงงานไทยให้ได้มาตรฐานรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายและการแข่งขันในตลาดโลก
ยุทธศาสตร์ที่ 4 : ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 923,851.4 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 24.6 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อให้คนไทยได้รับสวัสดิการพื้นฐาน บริการสาธารณะอย่างทั่วถึงเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ สนับสนุนการเตรียมความพร้อมสังคมไทยในการรองรับสังคมสูงวัย เพิ่มศักยภาพและยกระดับผู้ประกอบการธุรกิจ ส่งเสริมสภาพแวดล้อมและกลไกการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เร่งดำเนินการให้ประชาชนมีสิทธิในที่ดินทำกิน พัฒนาระบบสาธารณสุข ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาที่มีคุณภาพและมาตรฐาน รวมทั้งสร้างหลักประกันสวัสดิการ สำหรับแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ