ตัวเลขจากองค์การท่องเที่ยวเกาหลี ที่เปิดเผยเมื่อวาน (18 มิถุนายน) พบว่า มีนักท่องเที่ยวชาวไทยไปเยือนเกาหลีใต้ ช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน จำนวน 1 แสน 1 หมื่น 9 พันคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 21.1% สวนทางกับยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติในภาพรวม ที่เพิ่มขึ้น 86.9% นำโดยนักท่องเที่ยวชาวจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน ส่วนนักท่องเที่ยวจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็เพิ่มขึ้นถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์ เพิ่มขึ้น 76% อินโดนีเซีย 51% มาเลเซีย 35% เวียดนาม 29% และสิงคโปร์ 11%
เมื่อเทียบกับก่อนโควิด-19 ตัวเลขนี้ ก็คิดเป็นแค่ 59% ของนักท่องเที่ยวไทยในช่วงเดียวกันของปี 2562 เท่านั้น โดยปี 2562 ไทยเคยเป็นนักท่องเที่ยวอาเซียนอันดับ 1 ที่ไปเยือนเกาหลีใต้ ที่จำนวน 5 แสน 7 หมื่น 2 พันคน แต่ตกไปอยู่ที่สามในปีนี้ที่ตัวเลขแค่แสนกว่าคน ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงอุตสาหกรรม ระบุสาเหตุหลักว่ามาจาก กระแสทางลบจากตม.เกาหลีปฏิเสธเข้าประเทศ
การนำระบบอนุมัติการเดินทางทางอิเล็กทรอนิกส์เกาหลี หรือ K-ETA (Korea Electronic Travel Authorization) ซึ่งกำหนดให้นักเดินทางจากประเทศที่ได้รับการยกเว้นวีซ่า 112 ประเทศต้องลงทะเบียน และขออนุมัติการเข้าประเทศทางออนไลน์ ก่อนออกเดินทางไปเกาหลี ถือเป็นปัจจัยสำคัญ
เกาหลีใต้ละเว้นระบบ K-ETA ให้กับ 22 ประเทศ รวมถึงญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ แต่ไม่ได้ละเว้นให้ไทย การถูกปฏิเสธผ่านระบบ K-ETA จำนวนที่สูง และไม่มีคำอธิบายอย่างชัดเจนว่าทำไมถึงถูกปฏิเสธ จุดกระแสไม่พอใจให้กับคนไทย นอกจากนี้ บางคนผ่านการอนุมัติจาก K-ETA แล้ว พอไปถึงเกาหลีใต้กลับโดนปฏิเสธเข้าเมืองอีก ทำให้ความไม่พอใจยิ่งทับถม
เรื่องเล่าการถูกปฏิเสธเข้าเกาหลีใต้มากมาย ที่กลายเป็นกระแสร้อนแรงบนสื่อสังคมออนไลน์ในไทย ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้นักท่องเที่ยวจากไทยลดลง แต่สื่อเกาหลี โคเรีย ไทมส์ เสริมว่า ความเข้มงวดกับคนไทย ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาการลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย และจำนวนมากก็เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมร้ายแรง เช่น ยาเสพติดและอาชญากรรมทางเพศ กระทรวงยุติธรรมเกาหลีใต้ ย้ำว่า มาตรการเหล่านี้มีความจำเป็น เพื่อป้องกันการลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ไม่ใช่การเลือกปฏิบัติกับคนไทย
กระนั้น ทางการท่องเที่ยวของเกาหลีใต้ที่ตั้งเป้าดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติปีละ 20 ล้านคน ก็อดวิตกไม่ได้ เจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว กล่าวว่า การลดลงของนักท่องเที่ยวชาวไทย สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผล K-ETA เท่านั้น ดังนั้น เราจึงร้องขอให้ละเว้น K-ETA ชั่วคราวในปีนี้ แต่กระทรวงยุติธรรมยืนยันในจุดยืนเดิมอย่างหนักแน่น
ทั้งนี้ เกาหลีใต้และไทย กำหนดให้ปี 2023-2024 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวเกาหลี-ไทย ( “Korea-Thailand Mutual Visit ) หวังกระชับสัมพันธ์การท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศ