“พม.-สธ.” เปิดแพลตฟอร์มทำบัตรคนพิการวันสต๊อปเซอร์วิส “วราวุธ” หนุน จุดเดียวจบครบถึงเบี้ย Top News รายงาน
เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.67 ที่ห้องประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดงานเปิดตัวแพลตฟอร์มสำหรับการตรวจประเมินและออกเอกสารรับรองความพิการ แบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีพลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี เป็นประธานในพิธี และแพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวรายงาน
โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “นโยบายการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ” และนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “นโยบายกระทรวงสาธารณสุข ด้านคนพิการ” อีกทั้งมีการเสวนาเรื่อง “การเข้าถึงการจดทะเบียนคนพิการและออกเอกสารรับรองความพิการ ด้วยระบบดิจิทัล” และ “การบูรณาการแพลตฟอร์มสำหรับการตรวจประเมินและออกเอกสารรับรองความพิการแบบอิเล็กทรอนิกส์ และระบบการยื่นคำขอมีบัตรคนพิการ” รวมถึงการจัดบูธนิทรรศการ การแสดงผลงานและนวัตกรรมของภาคีเครือข่ายด้านคนพิการ ซึ่งมี นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) พร้อมคณะผู้บริหาร ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงาน
นายวราวุธ กล่าวว่า เนื่องจากปัจจัยความเหลื่อมล้ำและการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร ทางกระทรวง พม. จึงให้ความสำคัญกับประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายในทุกมิติ โดยผลักดันและขับเคลื่อน “นโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากร” ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ และ 5 มาตรการในแต่ละยุทธศาสตร์ ซึ่งยุทธศาสตร์ที่ 4 คือ สร้างโอกาสและคุณค่าให้คนพิการ ประกอบด้วย 5 มาตรการ ได้แก่ 1. โอกาสทางการศึกษาสำหรับคนพิการ เพิ่มการจ้างงานคนพิการ โดยส่งเสริมศักยภาพคนพิการและตลาดแรงงาน รวมถึงสภาพแวดล้อมการทำงานที่เหมาะสม 2. ส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ของคนพิการ สร้างทัศนคติที่เหมาะสมต่อคนพิการ สร้างแรงจูงใจด้านการพัฒนาคนพิการ 3. ป้องกันความพิการแต่กำเนิดทุกช่วงวัยรวมทั้งฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายและทางใจ 4. สภาพแวดล้อมที่ช่วยให้คนพิการดำเนินชีวิตอิสระโดย Universal Design (การออกแบบเพื่อคนทุกคน) Assistive Technology (AT) เทคโนโลยีและนวัตกรรมช่วยดำเนินชีวิต และ 5. ฐานข้อมูลและ Application เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพราะข้อมูลคือหัวใจสำคัญในการกำหนดนโยบาย